วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555




บทที่  4  จิตวิทยาการเรียนการสอน
ความหมายของจิตวิทยา
                จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์  การจัดการศึกษาในโรงเรียนจะเกี่ยวข้องกับครูและนักเรียน  ซึ่งเป็นงานที่ต้องเข้าใจพื้นฐานของพฤติกรรมมนุษย์ในด้านการเรียนรู้พัฒนาการเด็ก  การปรับตัว  บุคลิกภาพ  ตลอดจนพฤติกรรมการสอนและการแนะแนวของครูจิตวิทยาจึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการศึกษา
จิตวิทยา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Psychology มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก2 คำ คือ Phycheแปลว่า วิญญาณ กับ Logos แปลว่า การศึกษา   ตามรูปศัพท์ จิตวิทยาจึงแปลว่า วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ  แต่ในปัจจุบันนี้ จิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ความหมายของจิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นั่นคือ จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์
จิตวิทยาการศึกษา คือ ศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนในสภาพการเรียนการสอนหรือในชั้นเรียน เพื่อค้นคิดทฤษฎีและหลักการที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ จิตวิทยาการศึกษายังมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา การสร้างหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล  ครูอาจารย์จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาการศึกษาเพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน  ดังนั้น ในเรียงความบทนี้ผมจึงอยากจะพูดถึงจิตวิทยาการศึกษาระดับพื้นฐานที่ได้เรียนมาในภาคการศึกษานี้ ในฐานะนิสิตคณะครุศาสตร์ที่จะต้องจบการศึกษาออกไปเป็นครู

ความสำคัญของจิตวิทยา
1.             รู้จัก เข้าใจ และยอมรับธรรมชาติของตนเอง และผู้อื่นทำให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
2.             ทราบถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ในสถานการณ์ต่างๆเพื่อจะได้คาดคะเนหรือพยากรณ์ล่วงหน้าและควบคุมการเกิดและไม่ให้เกิดพฤติกรรมนั้นๆ
นอกจากนี้ จิตวิทยามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้นำหรือผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะต้องมีความสามารถในการบังคับบัญชา จูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ มีความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติงาน ยอมรับนับถือผู้บังคับบัญชาอย่างจริงใจ ผู้นำจะต้องมีความเข้าใจหลักจิตวิทยาในการปกครอง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชา แก้ปัญหาในการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา พัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาตลอดจนบำรุงรักษาผู้ใต้บังคับบัญชาให้อยู่ในหน่วยงาน 

ความหมายของการเรียนรู้

นักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ เช่น

                คิมเบิล  (   Kimble ,  1964   )  "การเรียนรู้   เป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากการฝึกที่ได้รับการเสริมแรง"
                ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์  (Hilgard& Bower, 1981)  "การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก   ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ  ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์  "
                คอนบาค  (  Cronbach)  "การเรียนรู้  เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา "
                พจนานุกรมของเวบสเตอร์  (Webster 's  Third  New International Dictionary) "การเรียนรู้ คือ  กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้  ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน"
                ประดินันท์อุปรมัย (๒๕๔๐, ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา(มนุษย์กับการเรียนรู้) : นนทบุรี, พิมพ์ครั้งที่ ๑๕,     หน้า ๑๒๑) “ การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม “  ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหมายถึงทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม

จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้

                พฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาซึ่งกำหนดโดย บลูม และคณะ  (Bloomand Others ) มุ่งพัฒนาผู้เรียนใน  ๓  ด้าน    ดังนี้
                ๑.  ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถทางสมอง ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความจำ ความเข้าใจ  การนำไปใช้  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์และประเมินผล
                ๒.  ด้านเจตพิสัย (Affective Domain )  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก  ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความรู้สึก ความสนใจ  ทัศนคติ การประเมินค่าและค่านิยม
                ๓.  ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)  คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถด้านการปฏิบัติ ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท การเคลื่อนไหว  การกระทำ  การปฏิบัติงาน การมีทักษะและความชำนาญ

องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้

                ดอลลาร์ด และมิลเลอร์  (Dallard and Miller) เสนอว่าการเรียนรู้ มีองค์ประกอบสำคัญ ๔  ประการ คือ
                ๑.  แรงขับ (Drive) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล    เป็นความพร้อมที่จะเรียนรู้ของบุคคลทั้งสมอง ระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ  แรงขับและความพร้อมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมที่จะชักนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป
                ๒.  สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ   ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยา  หรือพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในสภาพการเรียนการสอน สิ่งเร้าจะหมายถึงครู  กิจกรรมการสอน  และอุปกรณ์การสอนต่างๆ   ที่ครูนำมาใช้
                ๓.  การตอบสนอง (Response) เป็นปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ทั้งส่วนที่สังเกตเห็นได้และส่วนที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้    เช่น การเคลื่อนไหว ท่าทาง  คำพูด การคิด  การรับรู้  ความสนใจ และความรู้สึก  เป็นต้น
                ๔.  การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอันมีผลในการเพิ่มพลังให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเพิ่มขึ้น การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลเป็นอันมาก

             การนำหลักการมาประยุกต์ใช้ในการสอน

๑.   ครูสามารถนำหลักการเรียนรู้ของทฤษฎีนี้มาทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนที่แสดงออกถึงอารมณ์  ความรู้สึกทั้งด้านดีและไม่ดี รวมทั้งเจตคติต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ  เช่น  วิชาที่เรียน กิจกรรม หรือครูผู้สอน  เพราะเขาอาจได้รับการวางเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็เป็นได้
๒.   ครูควรใช้หลักการเรียนรู้จากทฤษฎีปลูกฝังความรู้สึกและเจตคติที่ดีต่อเนื้อหาวิชา กิจกรรมนักเรียน ครูผู้สอนและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดในตัวผู้เรียน
๓.   ครูสามารถป้องกันความรู้สึกล้มเหลว  ผิดหวัง และวิตกกังวลของผู้เรียนได้โดยการส่งเสริมให้กำลังใจในการเรียนและการทำกิจกรรม ไม่คาดหวังผลเลิศจากผู้เรียน และหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์หรือลงโทษผู้เรียนอย่างรุนแรงจนเกิดการวางเงื่อนไขขึ้น กรณีที่ผู้เรียนเกิดความเครียด  และวิตกกังวลมาก ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ผ่อนคลายความรู้สึกได้บ้างตามขอบเขตที่เหมาะสม
หลักการสอนและวิธีสอน นักจิตวิทยาการศึกษาได้เสนอหลักการสอนและวิธีการสอนตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แต่ละท่านยึดถือ เช่น หลักการสอนและวิธีสอนตามทัศนะนักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม ปัญญานิยม และมนุษย์นิยม
หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะช่วยให้นักการศึกษา และครูทราบว่า การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือผู้เรียนได้สัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละวิชาหรือหน่วยเรียนหรือไม่เพราะถ้าผู้เรียนมีสัมฤทธิผลสูง ก็จะเป็นผลสะท้อนว่าโปรแกรมการศึกษามีประสิทธิภาพ
การสร้างบรรยากาศของห้องเรียน เพื่อเอื้อการเรียนรู้และช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักเรียน

การสร้างความสนใจให้กับผู้เรียน

1.  ต้องศึกษาถึงความต้องการของผู้เรียนโดยส่วนใหญ่ว่าเป็นอย่างไร จะได้จัดบทเรียน สภาพห้องเรียน สื่อการเรียนต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของเขา
2.  ก่อนจะสอนเรื่องใดควรสำรวจความสามารถพื้นฐานตลอดจนความถนัดของผู้เรียนก่อนเพื่อจัดสิ่งเร้าให้ตรงกับที่เขาต้องการ
3.  จัดสภาพห้องเรียนให้น่าสนใจ ตั้งคำถามยั่วยุและท้าทายความสามารถของนักเรียน ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ผู้เรียนตื่นตัวกับสภาพการณ์บางอย่างที่เป็นปัญหา ที่แปลกไปจากเดิม เป็นต้น
4.  ให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในงานที่ทำบ้าง เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาทำงานระดับสูงต่อไป โดยเลือกงานที่เหมาะกับความสามารถและความถนัดของผู้เรียน จะช่วยให้เขาสนใจงานที่มอบหมายให้ทำ
5.  ชี้ทางหรือรายงานผลความก้าวหน้าของผู้เรียนให้ทราบเป็นระยะๆ ให้เขาได้ทราบว่าเขาก้าวมาถึงไหนแล้ว อีกไม่กี่ขั้นก็จะถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการแล้ว จะทำให้เขาตั้งใจทำเพื่อผลสำเร็จของตัวเขาเอง
6.  ฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเขาบ้าง จากการศึกษานอกสถานที่ จากการสังเกต หรือจากการสัมภาษณ์ สอบถามจากแหล่งวิชาการต่าง ๆ ตลอดจนการทดลองค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง ด้วยวิธีการเรียนแบบสืบสวนสอบสวน หรือให้นักเรียนฝึกเป็นผู้นำและผู้ตามได้ในโรงเรียน หรือนอกห้องเรียน โดยให้นักเรียนเป็นผู้ดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอนและการฝึกวินัยด้วยตัวของนักเรียนเอง